Usana กับสุขภาพกระดูก ข้อ เข่า
อายุมากขึ้นเท่าไหร่ ความเสื่อมถอยของร่างกายย่อมตามมา ปัญหาโรคกระดูกและข้อในผู้สูงอายุก็มักจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้สูงอายุต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง โอกาสนี้ ศ.เกียรติคุณ นพ.เจริญ โชติกวณิชย์ (ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังและข้อ และอดีตประธานสมาคมโรคกระดูกและข้อของประเทศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก) ได้ให้ข้อมูลรวมถึงคำแนะนำทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุในบ้านท่านสูงวัยอย่างมีคุณภาพและมีความสุข
โรคกระดูกและข้อที่ควรระวังในคนสูงอายุ
โรคกระดูกสันหลังเสื่อม
กระดูกสันหลังมักเสื่อมเป็นอันดับ 1 ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นกระดูกสันหลังยุบตัว หมอนรองกระดูกเสื่อม กระดูกหลวม มีการจับตัวของเอ็นที่หนาจนไปทับเส้นประสาทสันหลังหรือข้อต่อเล็กๆ การที่กระดูกสันหลังเสื่อมและทำให้ช่องไขสันหลังตีบ เบียดหรือกดทับเส้นประสาทที่จะควบคุมลงมาที่ขาเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้มีอาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขา และมีอาการชาร่วมด้วย บางรายเดินได้ไม่ไกลประมาณ 10-20 เมตรก็ต้องนั่งพักแล้ว ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานและมีอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน
โรคข้อเข่าเสื่อม
เป็นโรคที่พบมากรองลงมา เกิดจากกระดูกอ่อนของข้อมีการเสื่อมสภาพทำให้ไม่สามารถเป็นเบาะรองรับนํ้าหนัก และมีการสูญเสียคุณสมบัติของนํ้าหล่อเลี้ยงเข่า เมื่อมีการเคลื่อนไหวของเข่าจึงเกิดการเสียดสีและสึกหรอ ส่งผลให้เกิดเสียงดังในข้อ เกิดอาการปวดข้อ เข่าโก่ง ยิ่งอายุมากขึ้นจะยิ่งปวดมากขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น คือ นํ้าหนักตัวที่มากเกินไป
โรคข้อสะโพกเสื่อม
มีอัตราการเกิดน้อยก็จริง แต่หากเป็นแล้วเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสไม่แพ้โรคอื่นเลย เกิดจากการที่เส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวกระดูกสะโพกมีการอุดตัน ทำให้หัวกระดูกสะโพกค่อยๆ ตาย ผิวข้อสะโพกจะเสียไป จนในที่สุดหัวกระดูกสะโพกจะยุบตัว ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติและมีอาการเจ็บปวดอย่างมาก สิ่งที่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดข้อสะโพกเสื่อม ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการรับประทานยาในกลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำ หรือภายหลังจากการได้รับอุบัติเหตุที่ทำให้มีการเคลื่อนหลุดของหัวสะโพกจากเบ้า เป็นต้น
โรคกระดูกพรุน
คือโรคที่กระดูกมีภาวะความหนาแน่นลดลง โครงสร้างของเนื้อกระดูกเสื่อม เมื่ออายุเข้าสู่เลข 3 นำหน้าร่างกายมีกระบวนการสร้างเนื้อกระดูกใหม่ช้ากว่ากระบวนการสลายเนื้อกระดูก โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนจะมีการเสื่อมถอยของกระดูกอย่างรวดเร็วและมากกว่าผู้ชายถึง 2-3 เท่า เนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งจะช่วยยับยั้งการสลายเนื้อกระดูก จึงทำให้กระดูกเปราะบาง หักหรือยุบตัวได้ง่ายกระดูกส่วนที่หักบ่อย ได้แก่ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือและต้นแขน กระดูกเชิงกราน
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่แสดงอาการแบบทันทีทันใด ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ และมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงส่งผลต่อคุณภาพชีวิต จึงควรส่งเสริมให้เนื้อกระดูกมีความหนาแน่นในระดับสูงสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน รวมทั้งลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนตั้งแต่เนิ่นๆ โดยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ในบางรายคุณหมออาจแนะนำให้ทานแคลเซียมเสริม
โรคในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอหรือปวดหลัง
จากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ชอบนอนบนเก้าอี้เอนนอนหรือโวฟาเบด นอนหนุนหมอนสูงดูทีวี หรือนั่งทำงานในท่าเดิมนานๆ โดยไม่ปรับเปลี่ยนอริยบถ จะส่งผลให้มีอาการเริ่มต้นด้วยการปวดคอและคอแข็ง หรือที่เรียกกันว่า “ตกหมอน” บางครั้งมีอาการปวดที่สะบัก ที่มักเรียกว่า “สะบัมจม” อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าหมอนรองกระดูกคอเริ่มมีอาการเสื่อมแล้วหากปล่อยไว้ให้เป็นมากจะมีอาการปวดร้าวลงแขน หรืออาจมีอาการชาร่วมด้วย เป็นโรคที่บั่นทอนและสร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก หากไม่อยากมีปัญหาเรื่องปวดคอหรือปวดหลังควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันด่วน
แนวทางการรักษาโรคกระดูกและข้อในคนสูงอายุ
การรักษาโรคกระดูกและข้อต่างๆ ในผู้สูงอายุ เป็นการรักษาเพื่อลดอาการเจ็บปวดเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นปกติสุข โดยเริ่มตั้งแต่การทานยา ฉีดยา การทำกายภาพบำบัด แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวดเรื้องรังนานเกินกว่า 3-6 เดือน แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีที่ให้ในการผ่าตัดมีอยู่หลายวิธีตามข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยแต่ละราย อาทิเช่น การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้องรังสามารถผ่าตัดเข้าไปขยายช่องไขสันหลังที่เกิดจากเอ็นของไขกระดูกสันหลังที่หนาตัวขึ้น และหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม และยื่นเข้าไปในช่องไขสันหลังออก ทำให้ช่องไขสันหลัง ช่องเส้นประสาทสันหลังขยายขึ้น แล้วแทนด้วยสารคล้ายๆ กระดูกหรือใช้กระดูกตัวเองเข้าไปเสริมรองในช่วงหมอนรองกระดูกเพื่อให้กว้างขึ้น และทำให้ช่องไขสันหลังใหญ่ขึ้น เส้นประสาทสันหลังไม่ถูกกด ไม่ถูกบีบ ส่วนใหญ่ต้องเสริมด้วยโลหะยึดกับตัวกระดูกสันหลังแล้วก็ใช้แกนโลหะช่วยยึดเสริม เพื่อช่วยพยุงให้ส่วนนั้นมีความแข็งแรงมากขึ้น ทำให้อาการปวดหลังนั้นหายไป ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้นและไม่เป็นภาระกับลูกหลาน
ทำอย่างไรจึงสูงวัยอย่างมีคุณภาพและมีความสุข?
การรักษาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากยังไม่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันใหม่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำเดิมได้อีก หรือผลการรักษาในอนาคตอาจไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อการป้องกันให้ร่างกายเจ็บป่วยน้อยที่สุดและมีคุณภาพชีวิตที่ดี คุณหมอมีคำแนะนำดังนี้
- รับประทานอาหารให้ครบทั้งโปรตีนคาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ รวมทั้งนํ้า ซึ่งต้องรับประทานให้ถูกส่วน
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด
- เลือกทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ดื่มนมเพื่อเพิ่มแคลเซียม หากใครที่แพ้หรือไม่ชอบนมวัวสามารถดื่มนมถั่วเหลืองหรือนํ้าเต้าหู้แทนได้
- ทานอาหารย่อยง่าย กากใยสูง และอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น อาหารจำพวกปลา ข้าวซ้อมมือ ถั่วต่างๆ ผักและผลไม้
- ลด ละ เลิก สุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงงดการสูบบุหรี่ด้วย
- ออกกำลังกายอย่างพอควรและสมํ่าเสมอ วิธีออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงวัยคือการเดินบริหารร่างกาย ประมาณวันละ 1-2 ชั่วโมง
“ถ้าดูแลผู้สูงวัยดูแลร่างกายให้ฟิตแอนด์เฟิร์มได้แบบนี้รับรองว่าสุขภาพดี การเสื่อมของกระดูกและอาการต่างๆ จะลดน้อยลงหรืออาจไม่เป็นเลย และอายุยืนกันถ้วนหน้า ถึงจะสูงวัย ก็สูงวัยอย่างมีคุณภาพครับ”
ขอบคุณข้อมูลจาก สมิติเวช
แหล่งที่มา : นิตยสารไอเกิล (Aigle Magazine) ฉบับเมษายน 2559
No responses yet