3 ภัยสุขภาพดวงตา ตาล้า ตาแห้ง จอประสาทตาเสื่อม
ตาแห้ง ตาล้า จอประสาทตาเสื่อม 3 ภัยสุขภาพดวงตาที่ต้องระวังในยุคปัจจุบัน
คนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันอาจจะไม่เคยนั่งนับจำนวนชั่วโมงที่แต่ละคนต้องใช้สายตาทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สายตาทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์โฟน และโทรทัศน์ โดยจากพฤติกรรมดังกล่าวนี้ เป็นสาเหตุของภัยสุขภาพดวงตาที่เรียกว่า ตาแห้ง ตาล้า จอประสาทตาเสื่อม
จากสถิติพบว่า คนทำงานเป็นกลุ่มคนที่จะพบความผิดปกติกับดวงตามากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มคนที่ในแต่ละวันต้องใช้สายตาอยู่กับจอคอมพิวเตอร์ มือถือ แทบเล็ต และ Gadgets ต่างๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมงจนทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพดวงตา โดยเฉพาะอาการตาแห้ง ตาล้า และโรคจอประสาทตาเสื่อม
ตาแห้ง (Dry Eyes) คืออะไร และมีอาการอย่างไร?
ตาแห้ง (Dry Eye) เป็นอาการของดวงตาที่มีปริมาณน้ำตามาหล่อเลี้ยงเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นกับดวงตาไม่เพียงพอ จริงๆ แล้วตาแห้งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สำหรับในยุคนี้มีสาเหตุหลักมาจากการใช้สายตาผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน โทรทัศน์ เป็นเวลานาน
ผู้ที่ตาแห้งจะเกิดอาการระคายเคืองตาเหมือนมีเศษผงอยู่ในดวงตาตลอดเวลา คันตา แสบตาน้ำตาไหล ตาพร่ามัวมองเห็นไม่ชัด และหากอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีอากาศเย็น เช่น ในห้องแอร์ หรือโดนลมก็จะรู้สึกแสบตาได้ง่ายกว่าปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังเสี่ยงกับอาการตาแห้ง
ไม่เพียงเท่านั้นหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะปวดหัว เวียนศีรษะ ไมเกรน และหากเป็นเรื้อรังก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และมีโอกาสอาจลุกลามเป็นโรคตาที่ร้ายแรงได้
ตาล้า (Asthenopia) คืออะไร และมีอาการอย่างไร?
ตาล้า (Asthenopia) อีกหนึ่งในภัยสุขภาพทางดวงตายอดฮิตที่มีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้สายตาอย่างหนักเช่นเดียวกัน และนี้ไม่ใช่เพียงแค่สาเหตุใช้สายตาอย่างหนักเท่านั้น อาการนี้ยังเกิดได้กับคนทำงานที่อยู่ท่ามกลางแสงจ้าเป็นเวลานาน หรือคนที่ใช้สายตาในที่มืดหรือแสงน้อยทำกิจกรรมต่างๆ เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ และใช้สมาร์ทโฟนก็เสี่ยงตาล้าได้เช่นกัน
อาการตาล้า (Asthenopia) ที่พบได้บ่อยก็คือ มีอาการปวดเบ้าตา รู้สึกตาหนัก ดวงตาอ่อนล้า ตาพร่ามัวเฉียบพลัน มีอาการระคายเคืองตาและตาแห้งร่วมด้วย มีน้ำตาไหล แสบตา ตาแดง และมองเห็นไม่ชัด ซึ่งจะว่าไปแล้วอาการเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่รุนแรง แต่หากเป็นบ่อยครั้งก็จะส่งผลต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะระบบการมองเห็น และกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวเรื้อรัง
จอประสาทตาเสื่อม (Age-related macular degeneration) คืออะไร และมีอาการอย่างไร?
จอประสาทตาเสื่อม (Age-related macular degeneration) ถือได้ว่าเป็นโรคเกี่ยวกับระบบการมองเห็นซึ่งเกิดความผิดปกติบริเวณจุดกลางรับภาพของจอประสาทตา เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร (ตาบอด) ในอดีตโรคนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากจอประสาทตาจะเสื่อมตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น
แต่ในยุคปัจจุบันจอประสาทตาเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอายุน้อยเช่นกัน โดยเฉพาะคนทำงานที่ใช้สายตาอย่างหนัก โดยอาการของโรคนี้จะแสดงออกมาในลักษณะ มองเห็นภาพบิดเบี้ยว มองเห็นเส้นตรงเป็นเส้นคด มองไม่เห็นส่วนกลางของภาพ การมองภาพต้องใช้แสงเพิ่มมากขึ้น และการมองเห็นสีลดลง
โรคจอประสาทตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม (Age-related macular degeneration) แบ่งออกได้กี่ประเภท?
1. จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง
จะมีอาการเกิดขึ้นของโรคเกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยคนส่วนใหญ่ที่จอประสาทตาเสื่อมจะเป็นแบบชนิดแห้งคิดเป็นร้อยละ 85 ถึง 90
2. จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก
เป็นความผิดปกติของจอประสาทตาชนิดที่มีหลอดเลือดงอกผิดปกติ (neovascular AMD) เป็นการเกิดหลอดเลือดงอกใหม่ขึ้นใต้บริเวณ macular ที่เป็นจุดตรงกลางจอตาที่ทำหน้าที่รับภาพเป็นสาเหตุทำให้มีเลือดและสารน้ำภายในลูกตารั่วออกมา ซึ่งโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกจะมีความรุนแรงมากกว่าชนิดแห้ง หากไม่รีบรักษามีโอกาสทำให้สูญเสียการมองเห็นในท้ายที่สุด
วิธีการป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคตาต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นอาการตาแห้ง ตาล้า หรือจอประตาเสื่อม สามารถป้องกันและชะลอการเกิดโรคให้ช้าลงได้ทั้งสิ้น ผู้เชี่ยวชาญจึงมีข้อแนะนำให้ผู้ที่เสี่ยงมีอาการดังกล่าวปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. หมั่นพักสายตาเป็นระยะ โดยใช้กฎ 20-20-20
โดยมีเทคนิคให้พักสายตาจากหน้าจอทุก 20 นาที ด้วยการมองออกไปที่ระยะ 20 ฟุต (หรือไกลกว่านั้น) เป็นเวลาประมาณ 20 วินาที เพื่อเป็นช่วยให้สายตาได้ผ่อนคลาย
2. ปรับแสงสว่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ให้แสงจ้ามากเกินไป
คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ในปัจจุบันทุกเครื่องจะมีโหมดที่สามารถปรับลดแสงบริเวรหน้าจอไม่ให้สว่างมากเกินไป ซึ่งการปรับแสงสว่างหน้าจอนี้ต้องคำนึงถึงความสว่างภายในห้องทำงานเป็นปัจจัยสำคัญด้วย อย่าให้ความสำคัญกับแสงหน้าจอเพียงอย่างเดียว เพราะการปรับแสงหน้าจอให้พอดีกับสายตาต้องใช้ความสว่างแวดล้อมประกอบด้วย
3. ควรนั่งให้มีระยะห่างจากจอคอมพิวเตอร์กับดวงตา
เป็นสิ่งที่คนทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ประจำต้องคำนึงถึงก่อนจะปรับแสงสว่างบริเวณหน้าจอเสียอีก ดังนั้นก่อนจะเพิ่มหรือลดปริมาณแสงหน้าจอ ควรจะต้องจัดท่าทางการนั่งทำงานให้มีระยะห่างของจอกับดวงตาประมาณ 40-50 ซม. และควรให้จุดกึ่งกลางของหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ต่ำกว่าระดับสายตา ซึ่งการจัดระยะห่างในการนั่งทำงานจะทำให้ไม่ต้องใช้สายตาเพ่งมากจนเกินไป
4. พยายามกะพริบตาบ่อย ๆ
ในขณะที่เราใช้สายตาไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือใช้สมาร์ทโฟน การกะพริบตาบ่อยๆ จะเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ป้องกันตาแห้งและอาการระคายเคือง
5. ไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง
ถึงแม้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำให้ผู้ที่มีอาการตาแห้ง ตาล้า อาจใช้ยาหยอดตาเมื่อรู้สึกตาแห้งได้ แต่ก็ไม่ควรจะซื้อยาหยอดตามาใช้เองโดยเด็ดขาด ควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำในการรักษาและดูแลดวงตาอย่างถูกวิธี เพราะยาหยอดตาบางชนิดจะมีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อดวงตาได้
6. ใส่แว่นตากรองแสงคอมพิวเตอร์
ถึงแม้จะปรับแสงจ้าของหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือปรับระยะการนั่งทำงานแล้ว แต่แสงสีฟ้า (Blue Light) ก็ยังเป็นตัวการร้ายที่ทำลายดวงตาของเราอยู่ดี เรื่องนี้ รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้ไว้ว่า “แสงสีฟ้า สามารถทะลุทะลวงได้ถึงชั้นจอประสาทตา และทำลายกระจกตา รวมทั้งจอประสาทตาได้มากกว่าแสงสีอื่น คนที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือใช้อุปกรณ์ที่มีแสงสีฟ้าในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น เล่นสมาร์ทโฟนในที่มืด ปิดไฟดูโทรทัศน์ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงภัยจากแสงสีฟ้าทั้งสิ้น”
ในปัจจุบันคนที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นประจำ จึงมีการสวมแว่นตาที่มีเลนส์พิเศษ ซึ่งสามารถช่วยกรองแสงสีฟ้า ช่วยลดแสงเข้าดวงตา ทำให้รู้สึกสบายตายิ่งขึ้น ดังนั้นการสวมแว่นตา ปรับแสงหน้าจอให้เหมาะสม และปรับระยะห่างการนั่ง จึงเป็นสามสิ่งที่ควรปฏิบัติไปพร้อมกันเมื่อต้องทำงานอยู่หน้าจอฯ เป็นประจำ
7. สวมแว่นกันแดด เพื่อเลี่ยงแสงแดดจ้า
จริงอยู่ที่การใช้สายตาทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดอาการตาแห้ง ตาล้า และจอประสาทตาเสื่อม แต่อีกหนึ่งปัจจัยในชีวิตประจำวันก็ทำร้ายดวงตาทำให้เกิดอาการเดียวกัน นั่นก็คือ แสงแดด
ในแสงแดดประกอบไปด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ซึ่งหากรังสีชนิดนี้กระทบกับดวงตามากเกินไปก็ส่งผลกับดวงตาได้เช่นกัน ยิ่งประเทศไทยเป็นเมืองร้อนต้องเจอกับแสงแดดเป็นประจำ ดังนั้นคนที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น พนักงานขับมอเตอร์ไซค์ ตำรวจจราจร คนขับรถ ฯลฯ ควรจะต้องสวมแว่นกันแดดอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการถนอมดวงตา
ข้อดีของแว่นตากันแดดสำหรับผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ไม่เพียงแต่ช่วยดวงตาให้รอดพ้นจากการทำร้ายของแสงแดด ยังช่วยปกป้องไม่ให้เกิดอาการตาแห้ง แสบตา ระคายเคืองตา จากการที่ดวงตาสัมผัสกับลมและฝุ่นได้อีกด้วย
8. งดการสูบบุหรี่
ต่อไปนี้อาจจะต้องเปลี่ยนความเชื่อที่ว่าการสูบบุหรี่ไม่ดีเฉพาะแค่ปอดกับระบบทางเดินหายใจเท่านั้น เพราะรู้หรือไม่ว่าสารพิษในบุหรี่เป็นตัวการเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม และอาการตาแห้งได้อีกด้วย
เนื่องจากเมื่อเราสูบบุหรี่โลหะหนักที่เป็นสารพิษจะถูกส่งผ่านเข้าทางเส้นเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณดวงตาเมื่อดวงตาได้รับสารพิษจากควันบุหรี่เป็นเวลานานก็เสี่ยงทำให้การมองเห็นลดลงจนเกิดอาการตาบอดได้ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังทำให้หลอดเลือดตีบเล็กลง และเกิดปัญหาในการหมุนเวียนเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย รวมไปถึงดวงตาด้วย การที่เลือดไปหล่อเลี้ยงดวงตาลดลง ทำให้ดวงตาขาดออกซิเจนและสารอาหาร ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดก็คือการสูญเสียการมองเห็นไปอย่างถาวร
9. หมั่นตรวจเช็คสายตากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ถึงแม้เราจะปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตัวเองเพื่อสุขภาพดวงตาอย่างเคร่งครัดแล้วก็ตาม แต่การไปตรวจเช็คสุขภาพดวงตากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการป้องกันโรคเกี่ยวกับดวงตาอื่นๆ ที่ร้ายแรง
10. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับดวงตา
ผลวิจัยทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า การมีปริมาณสารอาหาร เช่น วิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน โอเมก้า-3 ธาตุสังกะสี และธาตุทองแดง มีประโยชน์ในการชะลอการเสื่อมมากขึ้นของผู้ป่วยที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม และนอกจากนี้การวิจัยของแพทย์ในอีกหลายประเทศ พบว่า การรับประทานอาหารเสริมที่มีสารอาหารดังกล่าว มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตาได้
อาหารจากธรรมชาติที่ช่วยบำรุงสุขภาพดวงตาได้แก่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น โกจิเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่สตรอว์เบอร์รี่ แบล็กเบอร์รี่ หรือมัลเบอร์รี่ (ลูกหม่อนของไทย) ผักใบเขียวต่างๆ เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า รวมทั้ง ไข่ แครอท ฟักทอง อะโวคาโด ถั่วอัลมอนด์ และปลาที่มีไขมันดีในปริมาณสูง
สารอาหารเพื่อการป้องกันและชะลอโรคตา
อย่างที่ทราบว่ามีสารอาหารมากมายในธรรมชาติที่สามารถดูแลและป้องกันดวงตาจากอาการตาแห้ง ตาล้า และจอประสาทตาเสื่อมได้ ที่สำคัญเป็นสารอาหารที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกให้การยอมรับ เนื่องจากมีผลการวิจัยที่ชัดเจน อันประกอบไปด้วย
1. ลูทีน และซีแซนทีน (lutein & zeaxanthin)
โดยปกติร่างกายของคนเราไม่สามารถสังเคราะห์ลูทีนและซีแซนทีนขึ้นมาใช้เองได้ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น การศึกษาบทบาทของลูทีนต่อดวงตาพบว่า ลูทีนพบมากอยู่ที่เซลล์รับภาพในจอประสาทตา จะทำหน้าที่สำคัญคือ ช่วยกรองแสงสีฟ้าซึ่งเป็นอันตรายต่อจอประสาทตา และเป็นแสงที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะมีอยู่ทั่วไปรอบๆตัวเรา ทั้งแสงแดดจากดวงอาทิตย์ แสงจากโทรทัศน์ แสงจากจอคอมพิวเตอร์ แสงจากหลอดไฟ ฯลฯ นอกจากนี้ ลูทีน ยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่จะช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับจอประสาทตาทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้ด้วย
2. บิลเบอรี่สกัด (Bilberry extract)
หนึ่งในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่ช่วยให้เส้นเลือดฝอยในตาแข็งแรงขึ้น ประสิทธิภาพการมองเห็นดีขึ้น บิลเบอร์รี่ อุดมไปด้วยสารสำคัญแอนโธไซยาโนไซด์ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูงที่ช่วยบำรุงดวงตา ช่วยให้การมองเห็นในที่มืดดีขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อผู้ที่เป็นโรคตามัวตอนกลางคืน บิลเบอร์รี่สามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับหลอดเลือดฝอยในดวงตา ช่วยลดอนุมูลอิสระในจอตา
ดังนั้นจึงมีการใช้บิลเบอร์รี่เพื่อป้องกันการเสื่อมของดวงตา เช่น ต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อม บำรุงอาการของโรคจอตาที่เกิดจากเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง และยังช่วยฟื้นฟูอาการตาล้าจากการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์
3. เบต้าแคโรทีน (Betacarotene)
เบต้าแคโรทีนจะเปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอ ซึ่งร่างกายจะนำไปใช้สร้างสารโรดอปซินในดวงตาส่วนเรตินา ทำให้ตามีความสามารถในการมองเห็นในตอนกลางคืนได้ และยังลดความเสื่อมของเซลล์ของลูกตา ลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจก นอกจากนี้ยังป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืน ช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้นขึ้นด้วย
4. แอสตาแซนทีน (Astraxanthin)
จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของสารแอสต้าแซนธิน พบว่ามีคุณสมบัติช่วยลดอาการเมื่อยล้ากล้ามเนื้อสายตาจากการต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ และมีคุณสมบัติในการปรับกล้ามเนื้อเลนส์ตาทำให้การมองเห็นภาพชัดเจนขึ้น ลดการมองเห็นภาพซ้อนได้ นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูง จึงช่วยลดอการตาล้า และชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อม
5. น้ำมันปลา (Fish Oil)
น้ำมันปลาให้สารสำคัญ คือ โอเมก้า-3 เป็นกรดชนิดไม่อิ่มตัวที่ประกอบด้วยดีเอชเอ (DHA) และอีพีเอ (EPA) ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของเนื้อเยื่อจอประสาทตา จึงมีบทบาทสำคัญต่อประสิทธิภาพการมองเห็นของจอรับภาพในตา ช่วยบำรุงสายตา ช่วยลดอาการตาแห้ง ช่วยการมองเห็นทั้งในที่สว่างและที่มืด และมีผลต่อการควบคุมความชุ่มชื้นของดวงตา ลดภาวะตาแห้งจากการจ้องจอนานๆ ได้ ทำหน้าที่ลดขบวนการอักเสบทำให้อาการตาแห้งดีขึ้น เชื่อว่าโอเมก้า3 ช่วยปรับชั้นไขมันในน้ำตา ทำให้น้ำตาระเหยน้อยลง มีการสร้างน้ำตาเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยังมีส่วนช่วยปรับสมดุลความดันในลูกตาได้อีกด้วย การดูดวงตา
6. สารต้านอนุมูลอิสระปริมาณสูง
เมื่ออนุมูลอิสระเกาะติดเลนส์ตาเป็นจำนวนมาก เสี่ยงที่จะทำให้เส้นเลือดบริเวณดวงตาแข็งส่งผลเลนส์ตาขุ่นและมีโอกาสเกิดต้อกระจก เซลล์ตาเสื่อม และทำให้เสี่ยงกับการมีปัญหาสายตาเมื่ออายุมากขึ้น มีการศึกษาในต่างประเทศพบว่าการรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระร่วมกัน จะช่วยชะลอการเสื่อมของดวงตาได้ เช่น การศึกษาเรื่องโรคจอประสาทตาเสื่อมที่สัมพันธ์กับอายุ (AREDS) พบว่า การรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณสูงร่วมกัน ได้แก่ แร่ธาตุสังกะสี วิตามินอี วิตามินซี ทองแดง และเบต้าแคโรทีน มีผลช่วยลดการกำเริบของโรคจอประสาทตาเสื่อมได้อย่างมีนัยสำคัญ
สุขภาพดวงตา (Eye Health) เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนในปัจจุบันต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด เนื่องจากดวงตาคือ หนึ่งในอวัยวะชิ้นสำคัญ ถึงแม้เราไม่สามารถจะหยุดความเสื่อมถอยของร่างกายเมื่อเราอายุเยอะขึ้นได้ แต่เราก็สามารถที่จะชะลอการเกิดโรค และความเสื่อมให้ยาวออกไปได้ ตามวิธีและข้อแนะนำตามที่กล่าวไปแล้ว โดยเฉพาะการดูแลดวงดตาด้วยสารอาหารจำเป็น ที่ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการถนอมดวงตา และปกป้องให้ดวงตาแข็งแรง
No responses yet