แมคนีเซี่ยมเกี่ยวอย่างไรกับไมเกรน
ไมเกรน (Migraine) อาการปวดหัวยอดฮิตของคนทำงาน
คนไทยในวัยทำงานปัจจุบันโดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในหัวเมืองใหญ่มีอัตราการต้องเผชิญกับโรคปวดหัวไมเกรน (Migraine) สูงขึ้น เคยมีการสำรวจชุมชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย พบสถิติที่น่าตกใจว่าในชุมชนดังกล่าวมีผู้ป่วยเป็นโรคไมเกรนสูงถึง 17% และในจำนวนนี้มีถึง 30% มีความรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันปกติได้ และจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า
จากผลการสำรวจในครั้งนั้น ถือว่าเป็นค่าเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย และอาการปวดหัวไมเกรนจะพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (ข้อมูลจาก : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข)
ในงานเสวนาเกี่ยวกับปัญหาโรคไมเกรนในคนไทยที่จัดโดยสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทยซึ่งนำโดย ศ.นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขาธิการราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะ ภายใต้สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวไว้ว่า “โรคไมเกรน เป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่ง ที่เมื่อเป็นแล้วโอกาสหายขาดจะมีน้อยมาก โดยคนที่อายุอยู่ระหว่าง 20-40 ปี จะเป็นกลุ่มคนที่พบว่าเป็นโรคปวดหัวไมเกรนมากที่สุด
ปวดหัวไมเกรน (Migraine) อาจจะเรียกได้ว่าเป็นโรคยอดฮิตของคนในวัยทำงานทั่วโลก ถึงขนาดที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ให้ความสำคัญของโรคนี้ ถึงขนาดที่ให้ถือเป็นโรคที่ทำให้เกิดความทุพพลภาพ (disability) เป็นอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก (ข้อมูลจาก www.posttoday.com/life/healthy/615938)
ปวดหัวไมเกรน (Migraine) คืออะไร
อาการปวดหัวไมเกรน (Migraine) ก็คือ อาการปวดหัวเรื้อรังประเภทหนี่งที่มีลักษณะเฉพาะตัวคือ เป็นอาการปวดหัวเพียงข้างเดียว ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้เกิดอาการปวดบริเวณขมับ กระบอกตา และท้ายทอย บางคนที่เริ่มปวดข้างเดียวแล้วลามไปปวดทั้งศีรษะ ลักษณะอาการปวดจะปวดตุ๊บๆ เป็นระยะ โดยส่วนใหญ่ระดับการปวดจะปวดขั้นปานกลางไปจนถึงขั้นรุนแรง
เมื่อเกิดอาการ ความปวดจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงจากปวดระดับกลางๆ จนกลายเป็นปวดมาก และจะเริ่มบรรเทาเมื่ออาการผ่านไป โดยในการปวดแต่ละครั้งจะกินเวลานานหลายชั่วโมง ส่วนใหญ่หากได้นอนพักผ่อนเป็นเวลานานก็จะหาย แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่อาการปวดกินเวลานาน 1-2 วัน และก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ในในขณะปวดไมเกรนก็สามารถมีอาการไข้ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
สาเหตุของอาการปวดหัวไมเกรน (Migraine)
ถึงแม้ว่าไมเกรนจะเป็นอาการปวดหัวที่มีสถิติว่าคนทั่วโลกเป็นมากที่สุดประเภทหนึ่ง แต่เชื่อหรือไม่… อาการปวดหัวชนิดนี้ยังเป็นที่ถกเถียงและหาข้อสรุปถึงสาเหตุที่ชัดเจนยังไม่แน่ชัด บางทฤษฎีก็เชื่อกันว่าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง หรือการทำงานที่ไม่ปกติของหลอดเลือดภายในสมองทำให้เกิดการหดเกร็ง นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่เชื่อว่าอาจจะเกิดจากกรรมพันธุ์ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมทั้งภายใน และภายนอกร่างกายมากระตุ้นสมองให้เกิดอาการปวดหัวได้
ประเภทของปวดหัวไมเกรน (Migraine)
ทางการแพทย์สามารถแบ่งประเภทของการปวดหัวไมเกรนได้เป็น 2 กลุ่มคือ
1. กลุ่มที่มีอาการออร่า (แสดงอาการก่อนปวดหัว)
คือเป็นกลุ่มประเภทของอาการไมเกรนที่การมองเห็นผิดปกติไปจากเดิม โดยแสดงผ่านอาการที่สังเกตได้ชัดเจน เช่น ตามองไม่เห็นชั่วคราว เห็นภาพบิดเบี้ยว ภาพเบลอ หรือจะเห็นแสงระยิบระยับก่อนอาการปวดหัวตามในระยะเวลาต่อมา ซึ่งในทางการแพทย์เรียกประเภทของอาการปวดนี้ว่า Classic Migraine ซึ่งเป็นประเภทที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดในสมองแตกและตีบได้มากกว่าคนปกติถึง 27% โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี(ข้อมูลจากวาสารทางการแพทย์ Brain เมื่อปี 2017)
2. กลุ่มที่ไม่มีอาการออร่า (ไม่แสดงอาการก่อนปวดหัว)
คือไม่มีอาการเตือนใดๆ นำมาก่อน มีเฉพาะอาการปวดหัวที่แสดงออกมาเท่านั้น ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า Common Migraine
คุณปวดหัวไมเกรน (Migraine) บ่อยแค่ไหน
ในทางการแพทย์เราสามารถแบ่งอาการปวดเป็นชนิดย่อยตามความถี่ได้อีก 2 กลุ่ม ได้แก่
1. ปวดแบบครั้งคราว (Episodic Migraine)
คือผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรนน้อยกว่า 15 วันต่อเดือน
2. ปวดเป็นประจำแบบเรื้อรัง (Chronic Migraine)
คือผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรนอย่างน้อย 15 วันต่อเดือน (เป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือน) ซึ่งหากใครที่มีความถี่ในการปวดประเภทนี้ ควรต้องพบแพทย์โดยด่วน เพื่อรับการวินิจฉัย เพราะหากปล่อยไว้มีโอกาเสี่ยงที่จะม๊โอกาสเป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบและแตกได้มากกว่าคนปกติ คนที่เป็นไมเกรนจะมีโอกาสเกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบและแตกมากกว่าคนปกติ (ขอบคุณข้อมูลจาก : www.chulalongkornhospital.go.th)
การรักษา และวิธีป้องกันเมื่อปวดหัวไมเกรน (Migraine)
ในปัจจุบันวิธีการรักษาของแพทย์สำหรับคนปวดหัวไมเกรนมีอยู่ 2 ประเด็นหลักคือ รักษาเพื่อบรรเทาปวดหัวขณะเกิดอาการ และป้องกันไม่ให้เกิดรวมทั้งลดความถี่ในการเกิดให้น้อยลง
1. การบรรเทาปวดหัวขณะเกิดอาการ
โดยปกติเมื่อเกิดอาการ สามารถกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือกลุ่มยา NSAIDs รวมทั้งยาต้านไมเกรนโดยเฉพาะ แต่ในบางคนที่อาการไม่รุนแรงมาก การรักษาอาการไม่จำเป็นจำต้องใช้ยาเสมอไป อาจใช้การประคบเย็นหรือร้อนบริเวณศีรษะ หรือใช้วิธีการนอนหลับในการรักษา
2. การป้องกัน และลดความถี่ของอาการ
ในกรณีป้องกัน สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ หรือการจัดการความเครียด ส่วนการป้องกันโดยเลือกรับประทานยาป้องกันไมเกรนซึ่งมีอยู่หลายชนิด แพทย์จะเป็นผู้แนะนำเพื่อให้เหมาะสมกับอาการและความถี่ของอาการแต่ละคน
นอกจากจะใช้ยาและวิธีที่บอกไปข้างต้นแล้ว การป้องกันและลดความถี่ของอาการปวดหัวไมเกรนก็สามารถใช้แร่ธาตุที่มีชื่อว่า ‘แมกนีเซียม’ (Magnisium) เข้าร่วมรักษาและป้องกันได้
ทำไมแร่ธาตุแมกนีเซียม (Magnesium) ถึงช่วยอาการปวดหัวไมเกรน (Migraine)
อาการปวดหัวไมเกรน (Migraine) เกิดจากการขยายและหดของหลอดเลือดที่กะโหลกศีรษะซึ่งแร่ธาตุแมกนีเซียม (Magnesium) มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องบรรเทาอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อของหลอดเลือดเมื่อร่างกายได้รับแมกนีเซียมเพียงพอในแต่ละวัน จึงสามารถเป็นตัวช่วยในการป้องกัน และบรรเทาความรุนแรง รวมทั้งลดความถี่ของการเกิดไมเกรนได้
จริงๆ แล้วการนำเอาแร่ธาตุแมกนีเซียม (Magnesium) มาใช้ป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนมีมาตั้งแต่อดีต แต่ในปัจจุบันแพทย์ทั่วโลกมากมายหันมาให้ความสนใจกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เนื่องจากมีประสิทธิภาพและเห็นผลจริง นอกจากนี้ยังเป็นการลดปริมาณการรับประทานยาไมเกรน โดยไม่จำเป็น เพราะการใช้ยารักษาในคนที่ปวดหัวไมเกรน จะเกิดอาการข้างเคียง เช่น ยากลุ่ม ergotamine ทำให้เกิดการหดรัดตัวของหลอดเลือด อาจทำให้เกิดเนื้อตายจากภาวะที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายได้ หรือยาในกลุ่ม Tryptan ที่มีผลข้างเคียงทำให้เวียนหัว ปวดท้อง อ่อนเพลีย ง่วงซึม คลื่นไส้ รู้สึกเจ็บหรือแน่นที่หน้าอกหรือลำคอ ปากแห้ง ปวดท้อง รู้สึกเหนื่อย และหน้าแดง เป็นต้น นอกจากนี้ยากลุ่มป้องกันไมเกรนบางตัว เช่น กลุ่มยากันชัก หรือยาขยายหลอดเลือด ก็ทำให้ ง่วงซึม เหนื่อยล้า ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า เห็นภาพซ้อน เป็นต้น ดังนั้นจึงทำให้แมกนีเซียม (Magnesium) ในรูปแบบอาหารเสริมมีความปลอดภัยมากกว่าและสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง
มีผลวิจัยการใช้แร่ธาตุแมกนีเซียม (Magnesium) เพื่อรักษาอาการปวดหัวไมเกรน (Migraine) ถูกเผยแพร่ไว้ในวารสารทางการแพทย์ The Journal of Headache and Pain เมื่อ ปี 2015 หลังจากมีการทดลองโดยแบ่งผู้ป่วยปวดหัวไมเกรนจำนวน 130 คน ซึ่งมีความถี่ในการปวดมากกว่าเดือนละ 3 ครั้ง ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกใช้แร่ธาตุแมกนีเซียมในรูปแบบของอาหารเสริม (ร่วมกัน Co Q10 และ Riboflavin) เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ให้อาหารเสริมแบบหลอกๆ (ไม่มีแร่ธาตุใดๆ) นำมาทดลองเป็นเวลา 3 เดือน และติดตามผลอีก 4 สัปดาห์ ผลปรากฎว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับแมกนีเซียมในรูปแบบอาหารเสริมมีความถี่และระดับการปวดลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับกลุ่มอาหารเสริมหลอก
นอกจากนี้มีการเก็บสถิติของคนที่มีปวดหัวไมเกรนเป็นประจำพบกว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีระดับแมกนีเซียมในร่างกายที่ต่ำกว่าคนปกติที่ไม่ปวด และยังมีการศึกษาชิ้นหนึ่งในต่างประเทศพบว่าการรับประทานแมกนีเซียม (Magnesium) เป็นประจำมีส่วนช่วยลดความถี่การปวดหัวลงได้ถึง 41.6 %
ถึงแม้การรับประทานแมกนีเซียม (Magnesium) เพื่อป้องกันและลดความถี่ของอาการปวดหัวไมเกรนจะมีความปลอดภัยกว่าการใช้ยา แต่การรักษาไมเกรนก็ควรอยู่ในความแนะนำของแพทย์และเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ นอกจากจะรับประทานแมกนีเซียมเพื่อป้องกันอาการปวดหัวแล้ว ควรต้องทำร่วมกับวิธีอื่นๆ ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นต้องหลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน ออกกำลังกายเป็นประจำ จึงจะช่วยให้อาการบรรเทาและลดความถี่ในการเกิดน้อยลง
ขอบคุณข้อมูลจาก :
1. ดร. นพ.จรุงไทย เดชเทวพร สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2. นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล
3. https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/105_1.pdf
4. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/515/ไมเกรน-แมกนีเซียม
5. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
6. chulalongkornhospital.go.th
7. www.researchgate.net (https://rb.gy/btwr2i)
8. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18705538/
9. https://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/2514183X18823377
10. https://www.megawecare.co.th/
No responses yet