แคลเซียมไม่พอ เสี่ยงกระดูกพรุน

 

แคลเซียมไม่พอ เสี่ยงกระดูกพรุน

แคลเซียมไม่พอ เสี่ยงกระดูกพรุน

 

แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญ  ประมาณร้อยละ 99 ของแคลเซียมในร่างกายใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน เพิ่มความหนาแน่นให้มวลกระดูก ทำให้กระดูกมีความแข็งแรง ส่วนอีกร้อยละ 1 อยู่ในเลือดมีบทบาทควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การหดตัวของกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ การแข็งตัวของเลือดเมื่อมีบาดแผล  การทำงานของระบบประสาท และช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์หลายชนิด

 

แคลเซียมไม่พอ เสี่ยงกระดูกพรุน

หากได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอร่างกายจะดึงแคลเซียมที่สะสมอยู่ในกระดูกออกมาใช้ เมื่อเกิดขึ้นเป็นประจำแคลเซียมในกระดูกจะถูกดึงออกมามาก จนกระทั่งกระดูกพรุนและเปราะ ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงจึงเกิดโอกาสแตกหักได้ง่ายแม้ว่าได้รับแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย

 

ปัจจัยส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียม

  • วิตามินดี เป็นตัวเร่งให้มีการสังเคราะห์โปรตีนในชั้นเยื่อมูกของผนังลำไส้ ซึ่งแคลเซียมจะเกาะติดและถูกลำเลียงผ่านผนังลำไส้เข้าสู่กระแสโลหิต ดังนั้นเมื่อมีวิตามินดี การดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้เกิดได้ดีกว่า วิตามินดีได้จาก 2 แหล่ง คือ จากแสงแดดและอาหารจำพวกปลา ไข่แดง ตับ เนย เป็นต้น
  • ความเป็นกรดอ่อน ๆ ในอาหาร แคลเซียมจะละลายได้ง่ายในอาหารที่เป็นกรดอ่อน ๆ
  • แลคโตส ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น 15 – 50% ดังนั้นนมสดจึงเหมาะที่จะเป็นอาหารสำหรับแหล่งแคลเซียม

แหล่งอาหารแคลเซียม

  • นมและผลิตภัณฑ์นม  เป็นแหล่งของแคลเซียมที่ดี เนื่องจากนมมีปริมาณแคลเซียมสูงและร่างกายนำไปใช้ได้มาก  นม 1 กล่อง (250 ซีซี) ให้แคลเซียม 300 มิลลิกรัม ฉะนั้นการดื่มนม โดยเฉพาะนมพร่องมันเนย หรือไขมันต่ำวันละ 2 กล่อง จะได้แคลเซียมถึง 2ใน 3 ที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน
  • ปลาและสัตว์เล็กอื่น ๆ  ที่สามารถกินได้ทั้งกระดูกหรือเปลือก  เช่น  ปลาซิว  ปลาเกร็ดขาว ปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีนกระป๋อง  กุ้งฝอย  กุ้งแห้ง ฯลฯ
  • ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองเป็นแหล่งของแคลเซียม  เช่น เต้าหู้แข็ง  เต้าฮวย  (ไม่ใช่เต้าหู้หลอดไข่) ฯลฯ
  • ผักใบเขียว ผักที่มีแคลเซียมสูงและร่างกายนำไปใช้ได้มาก เช่น  ผักกวางตุ้ง  ผักคะน้า ฯลฯ

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ในปริมาณที่มากจนเกินไป เนื่องจากการรับประทานโปรตีนมากและรับประทานแคลเซียมไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการสูญเสียแคลเซียมเพิ่มมากขึ้นได้
  • หลีกเลี่ยงหรืองดรับประทานอาหารรสเค็มจัด เนื่องจากอาหารรสเค็มมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมจะทำให้ร่างกายขับน้ำออกทางปัสสาวะมากขึ้นและขับแคลเซียมตามออกมาด้วย จึงทำให้การสูญเสียแคลเซียมจากร่างกายทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงหรืองดดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น น้ำชา กาแฟ เพราะคาเฟอีนจะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงหรืองดดื่มน้ำอัดลม เนื่องจากมีส่วนผสมของฟอสฟอรัสสูง ฟอสฟอรัสจะรวมตัวกับแคลเซียมในร่างกาย ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดเสียสมดุล ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำแคลเซียมไปใช้ได้ตามปกติ จึงทำให้แคลเซียมในร่างกายลดลง
  • หลีกเลี่ยงหรืองดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย และทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำในปริมาณมากจะทำให้แคลเซียมลดต่ำลง
  • หลีกเลี่ยงหรืองดสูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่ขัดขวางการนำแคลเซียมไปใช้ ทำให้ร่างกายนำแคลเซียมไปใช้ได้ลดลง

ข้อมูล bangkokinternationalhospital

แบ่งปันเรื่องราวนี้...

Categories:

คุณน่าจะชื่นชอบเรื่องเหล่านี้

ยูซานาโคคิว 30 (USANA CoQ 30) ยิ่งอายุมากขึ้น […]
ยูซานาไบโอเมก้า (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ไม่ใช่ยา […]
Usana ไฟเบอร์ เพื่อสุขภาพลำไส้และการขับถ่ายที่ […]

No responses yet

ใส่ความเห็น